การย้อมผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ

การย้อมสีธรรมชาติ เป็นสีย้อมที่ถูกคิดค้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการนำส่วนต่างๆของพืช เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ ลูกไม้ และรากไม้ นำ มาสกัดเป็นสีย้อม และผ่านกรรมวิธีในการย้อมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะให้สีได้หลายเฉดสีขึ้นกับชนิดของพืชที่ใช้ ในปัจจุบันการย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติเป็นที่นิยมลดลง เนื่องจากนานไปจะมีสีตก และซีด ซึ่งถ้าหากไม่สมารถควบคุมความเข้มข้นของการย้อมสีแต่ละครั้งได้ มักจะทำให้สีที่ย้อมในแต่ละครั้งไม่เหมือนเดิม เป็นเหตุทำให้ผ้าด่างได้ กลุ่มผู้ผลิตไหมจึงหันมาใช้สีเคมีที่ให้เฉดสีสดใส และคงทนต่อการตกสีดีกว่า แต่ก็มีการย้อมในบางท้องที่หรือบางหน่วยงานเพื่อรักษาภูมิปัญญาหรือย้อม เมื่อมีความต้องการเฉดสีแบบธรรมชาติตามความต้องการของลูกค้า


พืช
ส่วนที่ใช้
สีที่ย้อมได้
กระโดน
เปลือก
สีน้ำตาล
กระท้อน
เปลือก
สีน้ำตาล
กระถิน
เปลือก
สีน้ำตาล
แก้ว (ดอกแก้ว)
ใบ
สีเขียวตองอ่อน
ข้าว
ใบ
สีเขียวตองเหลือง
ขี้เหล็ก
ดอก
สีน้ำตาลเข้ม
เข, แกแล
เปลือก, แก่น
สีเหลืองทอง
ขนุน
เปลือก, แก่น
สีเหลือง สีกากี
ขมิ้น
หัวขมิ้น
สีเหลืองสด
คำแสด
เมล็ด
สีส้ม
คูน
เปลือก
สีน้ำตาลเหลืองทอง
คูน
เปลือก
สีน้ำตาลเข้ม
ครั่ง
รังครั่ง
สีแดงหรือแดงอมม่วง
คราม
ตัดเอาทั้งกิ่ง และใบ
สีฟ้าหรือน้ำเงิน
โคลนดำ
เนื้อโคลน
สีเทาดำ
จามจุรี
เปลือก
สีน้ำตาลอ่อน
ชงโค
เปลือก
สีน้ำตาลอ่อน
ชมพู่
ใบ
สีน้ำตาล
ชุมเห็ด
ใบ
สีน้ำตาลเขียว
ดาวกระจาย
กลีบดอก
สีเหลืองส้ม
ดาวเรือง
กลีบดอก
สีเหลืองทอง
ดินแดง
เนื้อดิน
สีอิฐมอญ
ดอกทองกราว
ดอก
สีเหลือง
ตะขบไทย (หมากเบ็ญ)
ใบ
สีเขียวขี้ม้า
ตะขบฝรั่ง
เปลือก
สีน้ำตาล
ตะแบก
เปลือก
สีน้ำตาลเหลือง
ใบเตยหรือพืชใบสีเขียว
ใบ
สีเขียว
ยอป่า
ราก
สีแดง
สะเดา
เปลือก
สีแดง
สมอป่า

ใบ
เปลือก
สีเขียว กากีแกมเขียว
สีแดง
หว้า
ผล
สีม่วงอ่อน
หมาก
ผล
สีน้ำตาล
อ้อยช้าง
ลำต้น
สีน้ำตาล

สารช่วยติดนิยมเติมลงในน้ำย้อมขณะย้อม อาทิ สารส้มจะให้โทนอ่อน จุนสีจะให้โทนสีเข้มขึ้น อื่นๆ เช่น เกลือหรือโซดาแอซ

ข้อควรระวังในการย้อมสีธรรมชาติ
1. วัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ เปลือกไม้หรือใบไม้ต้องหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เกิดการต้มเปื่อย และสกัดสีย้อมออกมาได้เร็วที่สุด
2. อัตราส่วนของพืชที่ใช้ย้อม หากเป็นพืชที่แห้งควรมีอัตราส่วนมากกว่า 2 เท่าของน้ำหนักเส้นไหม หากเป็นพืชที่สดควรมีอัตราส่วน 4 เท่าของเส้นไหม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความแน่ใจควรเตรียมน้ำสีย้อมไว้อีกต่างหาก หากการย้อมพบว่าสัดส่วนสียังน้อยเกินไปควรเติมน้ำสีย้อมที่เตรียมไว้ลงเพิ่มอีกจนมากเกินพอ เพราะจะช่วยป้องกันการย้อมด่างหรือสีตกเวลาซักได้เป็นอย่างดี
3. ควรแช่พืชย้อมทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน ก่อนจะนำไปต้มเอาน้ำสีเพราะจะช่วยสกัดสีย้อมออกมาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการต้มมาก
4. เส้นไหมที่นำมาย้อมต้องลอกกาว และทำความสะอาดให้ดีเสียก่อน ซึ่งจะช่วยให้ติดสีบนเส้นใยได้ดี และสม่ำเสมอ
5. ควรใช้น้ำสะอาดไม่กระด้าง เช่น น้ำฝนหรือน้ำบาดาล เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมได้ง่าย
6. อัตราส่วนของน้ำสีย้อมต่อเส้นใยไหมควรอยู่ในช่วง 1:20-30 เช่น เส้นไหม น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องมีประมาณน้ำสีอย่างน้อย 20-30 ลิตร ทั้งนี้ การย้อมจะทำการย้อมไหมตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อเสร็จ 1 กิโลกรัม ก็สามารถย้อมต่อโดยไม่ต้องถ่ายน้ำทิ้ง แต่ควรเติมน้ำสีย้อมหรือผงสีย้อมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเข้มข้น
7. ควรใช้สารช่วยติดชนิดต่างๆ อาทิ สารส้ม โซดาแอซ โซดาไฟ น้ำส้ม เป็นต้น เพื่อช่วยในการย้อมติดสีที่ดีขึ้น
8. อุปการณ์ที่ใช้ย้อมต้องมีขนาดเหมาะสมกับเส้นไหม ไม่ควรเล็กหรือใหญ่เกินไป
9. ภาชนะย้อมควรเป็นสแตนเลส เพราะจะช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของสีธรรมชาติกับโลหะที่มีคุณสมบัติเป็นตัวช่วยติดสี (Mordant) หรือให้สี เช่น ถ้าใช้ภาชนะย้อมที่เป็นเหล็กหรือมีสนิม เส้นไหมที่ได้จะมีระดับสีเข้มเหมือนใช้สนิมเหล็กเป็นตัวติดสี หรืออาจมีผลทำให้เส้นไหมที่ย้อมนั้นมีรอยด่างจากสีของสนิม
10. ในการย้อมควรค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้นช้าๆ ไม่ให้เร็วเกินไป เพราะหากย้อมที่อุณหภูมิสูงเลย อาจทำให้ย้อมด่างได้ และไม่ควรย้อมที่อุณหภูมิที่น้ำเดือด
11. ขณะย้อมต้องค่อยพลิกกลับเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการย้อมด่าง 
12. เมื่อย้อมเส้นไหมเสร็จแล้ว ควรตั้งน้ำสี และเส้นไหมไว้ให้เย็นเสียก่อนแล้วจึงนำเส้นไหมไปล้างน้ำ ไม่เช่นนั้นจะทำให้สีหลุดออกจากเส้นไหมได้ง่าย 
13. ผู้ย้อม ควรทำการจดบันทึกรายละเอียดของการย้อมสีทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลการย้อมในครั้งต่อไป