การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม

การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เริ่มจากการปลูกหม่อนด้วยกิ่งพันธุ์ เพื่อนำใบมาเป็นอาหารของตัวไหม เนื่องจากตัวไหมจะไม่กินอาหารชนิดอื่นนอกจากใบหม่อน ผู้เลี้ยงไหมจึงต้องปลูกหม่อนให้ได้ใบเพียงพอที่จะเลี้ยงในแต่ละครั้ง มิฉะนั้นจะลำบากในการหาใบหม่อนเพิ่ม เนื่องจากตัวไหมในระยะที่โตเต็มที่ก่อนชักใยจะกินอาหารทั้งกลางวัน กลางคืน  

การปลูกหม่อนนิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝนหรือใกล้แหล่งน้ำหรืออาจเป็นพื้นที่ใดๆที่มีระบบให้น้ำได้ สำหรับพันธุ์หม่อนที่นิยมปลูก  ได้แก่ หม่อนน้อย หม่อนสร้อย และหม่อนไผ่ หม่อนนครราชสีมา 60 หม่อนบุรีรัมย์ 60 ซึ่งจะใช้เวลาปลูกประมาณ 4 - 5 เดือน ก็สามารถเก็บใบมาเลี้ยงไหมได้ โดยการเก็บใบอ่อนก่อนถึงยอด 3 – 4 ชั้น หรือโดยการตัดทั้งกิ่ง แต่วิธีนี้ต้องวางแผนการตัดเป็นแปลงๆไปหรือต้องมั่นใจว่ามีปริมาณใบหม่อนที่เพียงพอต่อระยะการเลี้ยงไหมนั้น ไหมที่เลี้ยงกันแต่เดิมเป็นไหมพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าเริ่มต้นจากการเก็บรังไหมธรรมชาติในป่ามาเพาะเลี้ยง  

ไหมพื้นเมืองมีคุณสมบัติที่ดีตรงที่มีความต้านทานโรคสูง และไม่ต้องการการเอาใจใส่มากนัก แต่มีข้อเสีย คือ รังไหมมีปริมาณเส้นใยน้อย ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ไหมไทยผสมกับไหมต่างประเทศเพื่อให้มีปริมาณเส้นใยสูงขึ้น

ไหมเป็นแมลงจำพวกผีเสื้อ มีวงจรชีวิต 4 ระยะ คือ
 
ระยะที่ 1 ระยะที่เป็นไข่ เป็นช่วงเวลาตั้งแต่แม่ผีเสื้อวางไข่ถึงฟักเป็นตัวอ่อน ใช้เวลาประมาณ 9 – 12 วัน


 ระยะไข่ของผีเสื้อ

ระยะที่ 2 ระยะที่เป็นตัวหนอน ไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอนขนาดเล็กซึ่งสามารถกินอาหารได้เลย ผู้เลี้ยงจะต้องหั่นใบหม่อนอ่อนให้เป็นฝอยโรยบางๆให้กิน ระยะที่เป็นตัวหนอนนี้ไหมจะกินอาหารสลับกับการหยุดนอนเป็นช่วง ประมาณ 4 – 5 ช่วง ใช้เวลาประมาณ 20 – 25 วัน เมื่อได้เวลาตัวหนอนจะเปลี่ยนจากตัวสีขาวเป็นเหลืองใสเรียกว่า ตัวสุก ซึ่งจะไม่กินอาหารอีกต่อไป ผู้เลี้ยงไหมจะเก็บตัวสุกใส่จ่อซึ่งเป็นกระด้งขนาดใหญ่ มีไส้ขดเป็นวงกลมซ้อนกันเป็นชั้นเพื่อให้ตัวสุกชักใย โดยใช้ผ้าคลุมจ่อไว้อีกทีหนึ่งกันไหมออกนอกจ่อ


 ระยะหนอนไหม กินใบหม่อน

ระยะที่ 3 ระยะดักแด้ ไหมสุกหลังจากเก็บเข้าจ่อจะเริ่มชักใยเพื่อทำรัง ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 วันจะทำรังเสร็จ โดยปกติหากไม่ต้องการคัดเลือกไหมไว้ทำพันธ์ ผู้เลี้ยงจะคัดไหมออกจากจ่อเมื่อทำรังเสร็จแล้ว โดยจะนำรังไหมออกมาผึ่งแดดเพื่อเตรียมนำไปสาวเป็นเส้นใยต่อไป ทั้งนี้หากไม่นำรังไหมออกจากจ่อเพื่อสาวเส้นใย ตัวไหมจะลอกคราบอยู่ในรังกลายเป็นดักแด้ ซึ่งใช้เวลาอีก 7 – 9 วัน ดักแด้จึงจะลอกคราบกลายเป็นผีเสื้อเจาะรังออกมา


 ระยะดักแด้ ฝังตัวในรังไหม

ระยะที่ 4 ระยะที่เป็นผีเสื้อ หลังจากแม่ผีเสื้อใช้น้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างละลายใยไหมและเจาะรังออกมาผสมพันธุ์และวางไข่ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะตาย แต่พบว่าบางครั้งอาจมีแม่ผีเสื้อที่มีชีวิตหลังการวางไข่แล้วถึง 10 สัปดาห์
ระยะเป็นผีเสื้อ เจาะออกจากรังไหม