ผ้าไหมกาบบัว เอกลักษณ์ผ้าไหมเมืองอุบล

ผ้าไหมกาบบัวถือเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าไหมของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการประกาศตัวของการเป็นเจ้าของแห่งเอกลักษณ์ผ้าไหมกาบบัวเมื่อประมาณปี 2543  โดยมีความโดดเด่นของผ้าไหมหลายประการที่นำเอาวิธีการทอผ้าไหมหลากหลายวิธีเข้ามาประกอบในผ้าผืนเดียว ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเอกลักษณ์หลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน อาทิ


1. มีเส้นยืนซึ่งย้อมอย่างน้อยสองสีตามลักษณะของผ้าซิ่นทิว
2. ทอด้วยเส้นพุ่งโดยการปั่นเกลียวแบบหางกระรอก
3. มีการทอแบบมัดหมี่
4. มีการทอแบบขิด
5. มีการทอแบบจก

ขั้นตอนการย้อมผ้าไหมกาบบัว
1. การเตรียมเส้นไหม
การเตรียมเส้นใยไหมเป็นการทำความสะอาดไหมโดยการลอกกาวไหมออกก่อนที่จะนำไปย้อมสีต่างๆตามประเภทของการทอหรือความต้องการตามลวดลาย และเฉดสี เช่น การย้อมโทนสีเดียว และการย้อมมัดหมี่เพื่อให้ได้หลายเฉดสีในเส้นด้ายเดียวกันตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้

2. การย้อมสีไหม
เมื่อผ่านการเตรียมเส้นไหมแล้ว เส้นไหมที่ได้จะมีลักษณะสีขาวนวลสามารถย้อมติดสีได้ดีจึงพร้อมที่จะนำมาย้อมสีได้ โดยใช้ขั้นตอนการย้อมสีเส้นไหม สำหรับสีย้อมที่ใช้นิยมใช้สีเคมีหรือสีธรรมชาติ สำหรับการย้อมจะทำการย้อมโดยใช้โทนสีเดียวหรือย้อมหลายโทนสี (การย้อมมัดหมี่) ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ 

3. การทอหรือการต่ำหูก
การทอผ้าไหมเป็นการนำเส้นพุ่งใส่ในกระสวยเพื่อใช่สำหรับการยิงเส้นพุ่งขัดกับเส้นยืนที่เตรียมไว้ในเครื่องทอที่เรียกว่าหูก ทำการทอโดยการสอดกระสวยเส้นพุงไปมาสลับกับการเหยียบฟืม 1 ครั้ง เพื่อให้เส้นพุ่งขัดสลับกับเส้นยืนตามลวดลายที่ออกแบบไว้

4. การเก็บขิด
การเก็บขิด คือการงัดหรือการซ้อนเส้นยืนให้นูนขึ้นเพื่อให้เกิดลวดลายตามที่ออกแบบไว้มีลักษณะคล้ายกับการยกดอกเพื่อให้เกิดลวดลาย แต่จะใช้ไม้เป็นอุปกรณ์ในการงัดหรือซ้อนเพื่อให้เส้นยืนนูนขึ้น 


การเก็บขิดโดยใช้ไม้
 

การทอผ้าไหมกาบบัวปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน แล้วแต่ลวดลาย และขนาดที่ทำการทอ เมื่อทอสำเร็จสามารถนำมาตัดเย็บขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า ปลอกหมอน และใช้ตกแต่งผลิตภัณฑ์ หรือตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างสวยงาม หรือจำหน่ายเป็นผ้าทั้งผืน ซึ่งจะอยู่ที่ราคาเมตรละ 400-1000 บาท หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับลวดลาย และความยากง่ายของการทอ