พันธุ์ไหมในประเทศไทย

การเลี้ยงไหมของประเทศไทยในสมัยอดีตจะใช้สายพันธุ์พื้นเมืองเท่านั้น ซึ่งให้ผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ต่างประเทศ แต่มีจุดเด่นที่เส้นใยไหมมีความเหนียวแน่น เมื่อทอเป็นผืนหรือตกแต่งเป็นเสื้อผ้าแล้วจะมีความมันวาว และสวยงาม แต่หลังมีการส่งเสริม และพัฒนาการเลี้ยง และทอผ้าไหม จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ไหมที่สามารถให้ผลผลิต และคุณสมบัติของเส้นใยที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงสายพันธุ์ไหมแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ


1. ไหมสายพันธุ์พื้นเมือง คือไหมสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และอาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์พื้นเมืองด้วยกัน เป็นสายพันธุ์ที่สามารถฟักตัวได้ตลอดทั้งปี แต่ให้ผลผลิตน้อย เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ต่างประเทศ ทั้งนี้ในปัจจุบันเป็นพันธุ์ไหมที่ให้เส้นใยไหมที่มีคุณภาพ เมื่อทอเป็นผืนจะมีความสวยงามมากจึงเป็นที่รู้จัก และนิยมไปทั่วโลก รังไหมจะมีสีเหลืองถึงเหลืองเข้ม มีลักษณะค่อนข้างแหลม เรียว บาง อาทิ สายพันธุ์นางเหลือง สายพันธุ์นางลาย สายพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ สายพันธุ์นางน้อยสกลนคร เป็นต้น

2. ไหมสายพันธุ์ลูกผสม เป็นสายพันธุ์ไหมที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างสายพันธุ์ไทยแท้กับสายพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อให้ได้ลักษณะสายพันธุ์ที่ให้ทั้งด้านการต้านทานโรค คุณภาพ และเพิ่มปริมาณผลผลิต โดยมักจะให้รังไหมสีเหลืองหรือสีเหลืองออกขาวหรือเหลืองนวล อาทิ สายพันธุ์ไทยกับประเทศจีนหรือญี่ปุ่น เป็นต้น

3. ไหมสายพันธุ์ต่างประเทศ เป็นไหมสายพันธุ์ของต่างประเทศที่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย โดยสามารถแบ่งได้เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศบริสุทธิ์ ได้แก่ สายพันธุ์ต่างประเทศที่ไม่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับสายพันธุ์กับต่างประเทศอื่น ทั้งในแถบเอเชีย และยุโรป ซึ่งมีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทย อาทิ สายพันธุ์นครราชสีมา-60 เป็นต้น และสายพันธุ์ต่างประเทศผสม ได้แก่ สายพันธุ์ที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ต่างประเทศด้วยกัน ซึ่งมักจะให้คุณสมบัติของเส้นใยที่ให้ผลผลิตมาก รังไหมมักจะมีสีขาว รังใหญ่กว่าพันธุ์พื้นเมืองของไทย

สำหรับการจำแนกสายพันธุ์ไหมสามารถจำแนกได้หลายวิธีด้วยกัน อาทิ 
1. การจำแนกตามภูมิศาสตร์ของแหล่งที่พบ เช่น ไหมไทย ไหมจีน ไหมญี่ปุ่น เป็นต้น
2. จำแนกตามจำนวนครั้งของการฟักตัวของไหมในรอบปี เช่น 1 ครั้ง/ปี 2 ครั้ง/ปี และหลายครั้ง/ปี
3. จำแนกตามจำนวนครั้งของการลอกคราบในระยะตัวหนอน
4. จำแนกตามการผสมพันธุ์ของสายพันธุ์
5. จำแนกตามสีของรัง เช่น รังไหมสีขาว รังไหมสีเหลือง เป็นต้น
6. จำแนกตามฤดูกาลในการเลี้ยง เช่น พันธุ์ไหมที่เลี้ยงไดดีในฤดูหนาว ตามแถบประเทศจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
7. จำแนกตามผิวหนังด้านนอกของตัวไหม โดยพิจารณาในด้านสีผิว หรือลายของหนอนไหม
8. จำแนกตามความยุ่นของรังไหม