การลอกกาวไหมหรือการฟอกไหม

การลอกกาวไหมหรือการฟอกไหม หมายถึง การทำความสะอาดเส้นใยไหมด้วยการกำจัดส่วนของ sericin ที่มีลักษณะเป็นสารสีเหลืองทึบหรือมีสีขาว (ไหมดิบมีทั้งสีเหลือง และสีขาวขึ้นกับสายพันธ์) ออกจากเส้นใยไหมเพื่อการเตรียมเส้นใยไหมก่อนที่จำนำมาย้อมสีต่างๆ ซึ่งถ้าหากไม่มีการกำจัดสารดังกล่าวออก หากนำมาย้อมก็จะทำให้เกิดการย้อมติดสีต่างๆได้ยาก โดยจะได้เส้นใยไหมที่ผ่านการลอกกาวจะมีลักษณะสีขาว มันวาว อ่อนนุ่ม สามารถย้อมติดสีต่างๆได้ดี

การลอกกาวไหมสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
1. การลอกกาวไหมด้วยด่าง โดยการใช้สารเคมีจำพวกด่าง เช่น โซเดียมคาร์บอเนต โซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นต้น
2. การลอกกาวไหมด้วยกรด โดยการใช้สารเคมีจำพวกกรด เช่น กรดซัลฟูริก กรดไฮโดรคลอริก เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นที่นิยมเพราะการใช้กรดทำให้เกิดการทำลายเส้นไหมมากกว่าการลอกกาวด้วยด่าง

ณ ที่นี้ ขอกล่า่วถึงการลอกกาวไหมด้วยด่างซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้ทอผ้าไหม

เครื่องมือ อุปกรณ์
1. ภาชนะขนาดความจุ 35 ลิตร ขึ้นไป
2. ไหมดิบ 1 กิโลกรัม
3. สบู่แท้หรือเทียม 150 กรัม ( 5 กรัม/ลิตร)
4. โซดาแอช (Na2CO3) หรือผงด่องไหม 60 กรัม ( 2 กรัม/ลิตร) มีจำหน่ายซองละ 5 บาท
5. ผงกันด่าง (เป็นสาร Wetting agent) 30 กรัม ( 1 กรัม/ลิตร) มีจำหน่ายซองละ 5 บาท 
6. น้ำ 30 ลิตร (อัตราส่วนระหว่างไหมต่อน้า 1:30)

ขั้นตอนการลอกกาวไหม
- เติมน้ำลงหม้อประมาณ 30 ลิตร ใส่สบู่เทียม และด่าง โซดาแอช ตามที่กำหนด
- ต้มน้ำในหม้อย้อม ใหเน้ำร้อนประมาณ 70 องศาเซลเซียส สังเกตุผิวน้ำในหม้อเกิดไอน้ำ
- นำเส้นไหม 1 กิโลกรัม ลงในหม้อ กดไหมให้จมน้ำ จนเส้นไหมมีลักษณะเปียกน้ำ และพองตัว
- ค่อยๆเพิ่มไฟ ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 95 องศาเซลเซียส จนถึงเดือด และต้มเส้นไหมนาน 60 นาที
- นำเส้นไหมขึ้นมาวางทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที เพื่อให้เย็นตัวลง ก่อนนำไปล้างน้าอุ่น 60-70 ประมาณ 2-3 นาที บิดหมาดๆ และกระตุก 2-3 ครั้ง
- นำไปล้างน้ำเย็น 2 ครั้ง ครั้งละ 2-3 นาที บิดหมาดๆ และกระตุก 2-3 ครั้ง
- นำไปตากแห้ง ประมาณ 3-4 วัน

สำหรับกลไกการลอกกาวไหมจะเกิดจากสภาวะของ sericin เมื่อถูกน้ำ และได้รับอุณหภูมิสูงจะเกิดการอ่อนตัว พร้อมกับในสารละลายจะเติมโซดาแอซทำให้เกิดสภาวะเป็นด่าง เกิดการละลายของ sericin ที่เป็นกาวเคลือบเส้นไหมหลุดออก นอกจากนั้นการเติมสารกันด่าง (ภาษาเรียกของชาวบ้าน)หรือสารจำพวก Wetting agent ที่ทำหน้าที่ช่วยนำพาสารละลายแพร่กระจายเข้าสู่ภายในเส้นใยได้ดีทำให้สามารถลอกกาวไหมได้อย่างหมดจด

 

 ซ้าย: ไหมที่ผ่านการลอกกาว 

ขวา: ไหมดิบสีเหลือง

สารละลายน้ำด่างในหม้อต้ม สามารถใช้ได้อีกครั้งด้วยการเติมด่าง และสารกันด่างเพิ่ม โดยไม่ต้องเททิ้ง