การตัดแต่งกิ่ง และบำรุงรักษาต้นหม่อน

การขยายพันธุ์ของต้นหม่อนปัจจุบันใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง โดยการเลือกกิ่งแก่ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ปักชำลงดิน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการเจริญเติบโต และพร้อมในการเก็บใบสำหรับเลี้ยงหม่อน ทั้งนี้ กระบวนการเก็บใบหม่อนจำเป็นต้องใช้การจัดการ และการตัดแต่งกิ่งเข้าร่วมด้วยเพื่อให้ต้นหม่อนเจริญเติบโต และให้ใบที่มีคุณภาพในแต่ละช่วงการเก็บใบ ดังนี้

1. การเก็บ และตัดกิ่งช่วงการเจริญเติบโต
ในช่วงการเจริญเติบโตของปีแรก ให้ทำการเก็บใบจากกิ่งที่เจริญเติบโตหรือหากยังไม่มีการเลี้ยงไหมให้ตัดกิ่งในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้หน่อแตกกิ่งแรกสำหรับใช้เป็นกิ่งเก็บใบเพื่อใช้เลี้ยงไหม โดยให้สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร หลังจากนั้นประมาณเดือนที่ 10 เดือน ถึง 1 ปี ตัดกิ่งให้เหลือเพียง 3-5 กิ่ง แบ่งออกจากกอไหม ทั้งนี้ ควรตัดในช่วงเริ่มฤดูฝนเพื่อเริ่มการเก็บใบตลอดช่วงฤดู

2. การเก็บใบหม่อน ครั้งที่ 1
การเก็บใบหม่อนหลังจากตัดกิ่งเลี้ยงใบครั้งแรกประมาณ 2-2 เดือนครึ่ง เพื่อให้ใบแตกออกมากที่สุด และไม่เกิดใบแก่ การเก็บใบให้เก็บใบจากด้านล่างขึ้นบน โดยให้เหลือใบที่ยอดประมาณ 4-5 ใบ ไม่ควรเหลือใบที่ยอดเป็นใบอ่อนหรือน้อยเกินไป

3. การเก็บใบหม่อน ครั้งที่ 2
การเก็บใบหม่อนครั้งที่ 2 ให้เว้นระยะห่างจากครั้งแรกประมาณ 1-1 เดือนครึ่ง ลักษณะการเก็บใบให้เหมือนกับการเก็บใบในครั้งแรก

4. การเก็บใบหม่อน ครั้งที่ 3
การเก็บใบหม่อนครั้งที่ 3 ให้เว้นระยะห่างจากครั้งที่ 2 ประมาณ 1-1 เดือนครึ่งเช่นกัน ในช่วงนี้ให้ทำการตัดกิ่งในช่วงกลางกิ่ง โดยให้มีความสูงประมาณ 80-100 เมตร จากพื้น

5. การเก็บใบหม่อน ครั้งที่ 4
การเก็บใบหม่อนครั้งที่ 4 ให้เว้นระยะห่างจากการตัดกิ่งหรือการเก็บใบหม่อนครั้งที่ 3 ประมาณ 1-1 เดือนครึ่ง

6. การเก็บใบหม่อน ครั้งที่ 5
การเก็บใบหม่อนครั้งที่ 5 ให้เว้นระยะห่างจากครั้งที่ 4 ประมาณ 1-1 เดือนครึ่งเช่นกัน

7. ปล่อยให้ต้นหม่อนพักตัวจนถึงต้นฤดูฝน ก่อนเริ่มการเก็บเกี่ยวอีกครั้งในปีถัดไป

ในช่วงระยะห่างระหว่างการเก็บใบหม่อนแต่ละครั้ง ให้ทำการใส่ปุ๋ย พรวนดิน บริเวณโคนต้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ แนะนำให้เป็นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลสัตว์จะดีที่สุด

การเก็บเกี่ยวใบหม่อนในครั้งที่ 4 และ5 อาจอยู่ในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น การเก็บเกี่ยวดังกล่าวอาจไม่สามารถทำได้ในพื้นที่ขาดน้ำหรือไม่มีพื้นที่ชลประทาน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเก็บใบหม่อนในครั้งนี้ก็ได้

การเก็บใบหม่อนในช่วงฤดูหนาว และแล้งที่ขาดน้ำ หรือไม่มีการเก็บในช่วงนี้ รวมไปถึงช่วงที่ปล่อยให้ต้นหม่อนพักตัว ให้นำฟางแห้งหรือเศษใบไม้คลุมบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันการแห้งของดินบริเวณโคนต้น และโดยรอบ