ลายผ้าไหมแพรวา

ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าไหมที่มีถิ่นกำเนิด และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรรมของชาวภูไท ในแถบจังหวัดกาฬสิน นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร ซึ่งเดิมตั้งแต่สมัยในอดีตที่เริ่มการทอเป็นเพียงการทอเพื่อใช้เป็นผ้าสไบที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติในโทนสีเข้ม เช่น เปลือกไม้ ครั่ง เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และใช้สีเคมีในโทนสีที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมุ่งทางด้านการค้า
เป็นหลัก

การทอผ้าไหมแพรวาใช้วิธีเก็บลายด้วยการขิดลาย และการจกทำลวดลายบนผืนผ้าโดยใช้นิ้วก้อยในการล้วงเกาะ และยกเส้นยืน พร้อมสอดเส้นไหมสีต่างๆเป็นช่วงๆ ตามลายที่ออกแบบไว้ ทำให้เกิดความหลากหลายของลวดหลาย และเฉดสีหลายรูปแบบตามความต้องการ และสามารถแก้ไขได้ง่ายหากเกิดความผิดพลาดในการออกแบบหรือการทอ

จุดเด่น และความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมแพรวา คือ ลวดลาย และสีสันที่โดดเด่น และหลากหลาย ซึ่งผ้าผืนหนึ่งสามารถมีลวดลาย และสีได้มากกว่า 10 ลักษณะ

สำหรับลายผ้าไหมแพรวาจะประกอบด้วย3 ส่วน คือ ส่วนลายหลัก ลายคั่น และลายเชิงผ้า
1. ส่วนลายหลัก เป็นลายผ้าที่อยู่ส่วนกลางของผืนผ้า และมีพื้นที่มากที่สุด
2. ส่วนลายคั่น เป็นลายที่คั่นระหว่างลายหลักกับลายเชิงผ้า มีพื้นที่น้อยที่สุดของผืนผ้า มีลักษณะเป็นเส้นลายตัดขวางในแนวนอนของทั้งลายหลัก และลายเชิงผ้า
3. ส่วนลายเชิงผ้า เป็นส่วนที่อยู่ขอบริมผ้า มีพื้นที่มากกว่าลายคั่นเล็กน้อย

ลายผ้าไหมแพรวาทั้ง 3 ส่วน มักทอด้วยลายโบราณที่ประกอบด้วยรูปทรงเลขาคณิตต่างๆ

อุปกรณ์สำหรับทอผ้าไหมมัดหมี่
1. เส้นไหม ใช้ไหมที่ผ่านการลอกกาว และย้อมสีตามสีที่ออกแบบไว้
2. หลักเฝือ เป็นอุปกรณ์สำหรับค้นเส้นยืนให้เป็นระเบียบ เพื่อเตรียมเส้นยืนก่อนเข้าฟืมเพื่อการทอ
3. กง เป็นอุปกรณ์จัดเรียงเส้นไหมให้เป็นระเบียบ
4. อัก เป็นอุปกรณ์สำหรับม้วนกรอ เก็บเส้นไหมให้เป็นระเบียบที่ได้จากการจัดเรียงจากกง
5. ไนหรือหลา เป็นอุปกรณ์สำหรับเส้นไหมที่ได้จากการเตรียมจากกงเพื่อกรอใส่หลอดด้ายไหม
6. ตะกอหรือเขา เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยเชือก มีบ่วงหรือรูตรงกลางสำหรับร้อยเส้นยืน และไม้สำหรับยึดเส้นด้ายตะกอไว้ทั้งด้านบน และด้านล่างของบ่วงตะกอ เพื่อแยกเส้นยืนให้เป็นช่องสำหรับสอดเส้นพุ่งในการทอ
7. หลอดด้าย ใช้สำหรับกรอเก็บเส้นไหมให้ เพื่อใส่ในกระสวยทอผ้า
8. กระสวย เป็นอุปกรณ์สำหรับใส่หลอดด้าย เพื่อพุ่งกระสวยในการทอผ้า
9. ฟืมหรือฟันหวี เป็นอุปกรณ์สำหรับจัดเรียงเส้นไหมให้เป็นชุดๆหรือลำ สำหรับการขัดเส้นด้ายไหมขณะทอ
10. ไม้คันผัง เป็นอุปกรณ์ไม้ไผ่ที่ใช้ค้ำยันขอบริมด้านกว้างทั้งสองด้านให้ตึง
11. ไม้ลาย เป็นไม้ไผ่กลม ใช้สำหรับสานเก็บลายขิด
12. ไม้เก็บลายเป็นไม้แบน ขนาดกว้าง 6-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร ด้านปลายข้างหนึ่งมีลักษณะเรียว ใช้สำหรับสอดค้ำเส้นไหมตามที่เก็บขิดลายไว้
13. ไม้ยกลาย มีลักษณะเป็นไม้แบนคล้ายไม้เก็บลาย แต่กว้างกว่า ยาวประมาณ 1 เมตร ใช้สำหรับการยกค้ำเส้นไหมเพื่อการสอดนิ้วก้อย