เส้นยืน และเส้นพุ่ง คืออะไร

เส้นด้ายที่ใช้สำหรับการทอผ้าโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1.  เส้นยืน คือ เส้นด้ายชุดหนึ่งที่ขึงไว้กับกี่ตามแนวตั้ง โดยสอดผ่านช่องฟืม และตะกอที่โยงไว้กับกี่ และไม้เหยียบ ถ้าเป็นไหม เรียก ไหมยืนหรือไหมเส้นยืนหรือไหมเครือ ในการทอผ้า ช่างทอจะต้องเตรียมเส้นด้ายยืนเอาไว้ก่อนเสมอ โดยอาจมีความยาวหลายสิบเมตร ด้ายเส้นยืนมีความสําคัญในการทอผ้าไม่น้อยไปกว่าด้ายเส้นพุ่ง เมื่อเริ่มทอแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนด้ายเส้นยืนได้จนกว่าจะทอไปตลอดผืนเสร็จ

 เส้นยืนสีแดงที่ถูกติดตั้งบนกี่
ขั้นตอนการเตรียมเส้นยืน
1. คัดเลือกเส้นไหมทค่อนข้างเรียบ เส้นแข็งแรง เหนียว ขนาดเหมาะสม นำมาฟอกทำความสะอาด ลอกกาว และย้อมสีเส้นไหม  
2. ลงแป้ง และกรอเข้าหลอด โดยการนำเส้นไหมกรอเข้าหลอด  พร้อมลงแป้งก่อนกรอ ดังนี้ นำเส้นไหมที่ผ่านการย้อมสีที่แห้งสนิทแล้ว นำมาชุบน้ำ และลงแป้ง โดยอาจแช่ในน้ำข้าว หรือนำแป้งกลบไปมาให้เส้นไหมสัมผัสกับน้ำแป้ง จากนั้นนำขึ้นมาบีบน้ำออก และบดให้แห้ง กระตุกให้เส้นด้ายคลี่ตัวออก และไม่ติดกันจึงนำไปผึ่งให้แห้งสนิท เส้นไหมจะมีผิวเรียบ ต่อจากนั้นเอาเส้นไหมไปกรอเข้าหลอด   ระหว่างการกรอเข้าหลอดด้ายเส้นยืนซึ่งเป็นหลอดด้ายขนาดใหญ่  ต้องหมั่นตรวจสอบดูว่า เส้นด้ายสม่ำเสมอดีไม่มีรอยคอด ที่จะทำให้ด้ายขาดเร็ว และไม่มีปุ่มปมซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการทอ ถ้ามีต้องเอาออก และต่อให้เรียบร้อย
3. การเดินด้าย หรือ โว้นเครือ เป็นขั้นตอนหลังจากกรอด้ายเข้าหลอดเรียบร้อยแล้ว เป็นการจัดวางเส้นยืนให้เป็นรูปโครงของผืนผ้า มีการคำนวณความกว้างยาวของผืนผ้าที่ต้องการทอ เพื่อสะดวกในการสอดฟันหวี โดยใช้เครื่องเดินด้าย (มาเดินด้าย) ซึ่งมีราวขนาดใหญ่พอดีสำหรับบรรจุหลอดเส้นด้ายไหม และแคร่สำหรับเดินด้าย ส่วนใหญ่สามารถเดินเส้นยืนได้ราว 200 หลา เมื่อเดินด้ายหรือโว้นเครือได้ความยาวตามต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องปลดเส้นยืนออกมาจากแคร่ และขมวดให้เป็นลูกโซ่หรือถกเป็นเปีย เพื่อกันมิให้เส้นด้ายยุ่งพันกันหรือจะใช้วิธีเดินด้ายโดยไม่ใช้เครื่องก็ได
4. การหวี  คือ การแผ่เส้นจากลักษณะที่เป็นกำให้กระจายออก และเรียบสม่ำเสมอตามความกว้างของฟันหวีกับเครือเส้นยืน ในการหวีเส้นด้ายจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้ปฏิบัติอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งม้วนกงพัน อีกคนหวีด้ายให้เรียบร้อยและสม่ำเสมอกัน
5. การร้อยฟันหวี (ร้อยฟืม) เป็นการร้อยเส้นยืนเข้าชองฟันหวี โดยวัดความยาวจากจุดกึ่งกลางของฟันหวีไปหาริม 2 ข้าง จากนั้น จึงร้อยเส้นยืนเข้าชองฟันหวีตามความกว้างที่ต้องการ แต่ละชองฟันหวีร้อยสอดเส้นยืน 2 เส้น จนหมดด้ายหรือครบทุกชอง ช่องริมๆ อาจสอดด้าย 4 เส้นเพื่อให้ริมผ้าแข็งแรง ไม่ม้วน  เมื่อเสร็จแล้วให้ผูกเข้ากับแกนของกงพันม้วนด้าย และนำไปขึงบนกี่เพื่อเก็บตะกอตอไป ควรเลือกฟันหวีที่มีขนาดชอง และความกว้างเท่าที่ต้องการ
6. การนำด้ายขึงบนกี่ เมื่อเรานำด้ายที่หวี และรอยฟันหวีเรียบร้อยตามความยาวที่ต้องการแล้ว มาขึงบนกี่ที่จะใช้ในการทอผ้า โดยให้ปลายด้ายเส้นยืน(ปลายเครือ)ด้านหนึ่งม้วนเข้ากับไม้ม้วนด้ายหรือเครื่องม้วนด้ายยืนด้านหน้า และปลายด้ายอีกด้านที่ติดกับฟืมให้ม้วนเข้ากับไม้ม้วนผ้าด้านหลัง ควรดึงให้ตึงเสมอกันตลอดแนวหน้าผ้าขณะม้วนปลายเส้นด้ายพันรอบไม้ 
7. การเก็บตะกอ และผูกโยงตะกอ การเก็บตะกอ คือ การจัดเส้นด้ายยืนให้สามารถถูกยกขึ้นหรือถูกกดลงได้อย่างเป็นระบบเพื่อให้สอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไปได้ เป็นการเก็บลวดลายหรือแบบที่เราต้องการทอ  จะเก็บตะกอได้เมื่อเรานำด้ายที่จะทอขึงขึ้นบนกี่เสร็จเรียบร้อยแล้ว 

 2. เส้นไหมพุ่ง คือ เส้นด้ายที่พุ่งผ่านกระสวยที่ถูกกรอบนหลอดด้ายบรรจุในกระสวย โดยเส้นพุ่งจะพุ่งในแนวนอนจากซ้ายไปขวา และจากขวามาซ้ายผ่านเส้นยืนที่ยกสลับกันเมื่อเหยียบคานเหยียบ

การเตรียมเส้นพุ่งไม่ยุ่งยากเหมือนเส้นยืน ไม่ต้องลงแป้งเนื่องจากไม่ต้องเสียดสีกับฟันหวีมากเหมือนเส้นยืน การเตรียมเส้นพุ่ง มีขั้นตอนดังนี้ กรอเส้นด้ายหรือด้ายไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วเข้าระวิง และอักตามลำดับ จากนั้นกรอจากอักเข้าหลอดโดยใช้หลาหรือไนเป็นอุปกรณ์ช่วยในการกรอด้ายเข้าหลอด (ซึ่งจะทำให้เส้นกลมเรียบมากขึ้นไปในตัว) หรือ อาจนำเส้นด้ายหรือเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วมาควบ และตีเกลียวก่อนกรอเข้าหลอด  ควรกรอด้ายเข้าหลอดพอประมาณ คือไม่เต็มเกินไป จะทำให้ลำบากในการเข้ากระสวย และติดขัดได้ในการพุ่งสอดด้ายขณะทอผ้า



 เส้นพุ่งที่ถูกกรอไว้กับหลอดด้าย



กระสวยสำหรับใส่เส้นพุ่ง สอดพุ่งตามแนวนอนขัดกับเส้นยืน